ปู่ทองใส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำการทำพิธีทางศาสนา

     สัยสัยกันไหมคะว่า ปราชญ์ชาวบ้าน คือใคร ? 


    ปราชญ์ชาวบ้าน คือ บุคคลที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน และนำภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและสามรถถ่ายทอดคุณค่าเหล่านั้นได้อย่างหมาะสม ปราชญ์ชาวบ้านนั้นมีมากมายหลายแขนงมากเลยค่ะ โดย คุณปู่ทองใส เป็นปราชญ์ผู้รู้ทางพิธีกรรมและประเพณี เป็นผู้นำในการทำพิธีสำคัญต่าง ๆ เราไปพูดคุยกับท่านกันเลยค่ะ

ปู่ทองใส ปราชญ์ชาวบ้าน

    ปู่ทองใส วินทะไชย  คุณปู่วัย 73 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมหรือที่เราคุ้นชินกันว่า พ่อพราหม์ ปู่ทองใสเป็นพ่อพราหมณ์มาแล้ว 7 ปี ถึงแม้ว่าปู่จะไม่ใช่ผู้คิดค้นภูมิปัญญานี้ แต่ก็เป็นผู้สืบสานและถ่ายทอดไม่ให้ภูมิปัญญานี้สูญหายไป 

ขอแวะบอกหน่อยน้า : ช่วงที่เราไปพูดคุยกับคุณปู่ยังไม่มีการจัดพิธีกรรม ทำให้เราไม่สามารถนำรูปการทำพิธีมาฝากเพื่อน ๆ ได้นะคะ 

จุดเริ่มต้นของการเป็นปราชญ์ชาวบ้าน

    ปู่บอกว่า " ในตอนนั้นหมู่บ้านเรายังไม่มีคนพาชาวบ้านทำพิธี ปู่จับหนังสือได้เลยลองมาอ่านดู หนังสือก็ยืมมาจากวัด อ่านเองศึกษาเอง พิธีต่าง ๆ ปู่ก็อ่านเอาจากหนังสือ " 

เรียนรู้อะไรจากในหนังสือบ้าง

    ปู่อ่านหนังสือมรดกอีสาน อ่านพิธีถวายต่าง ๆ การอาราธนา คาถาปริตร การสวดมนต์มงคลต่าง ๆ แต่ปู่ก็ได้ไปยกครูไปขอเป็นศิษย์กับคนที่เขาทำมาก่อน ไปถามขั้นตอนในการทำพิธีจะได้ทำถูกตามหลักเขา

เรียนรู้นานแค่ไหนกว่าจะได้ลงมือทำจริง ๆ

    ไม่นานนะ ปู่ก็อ่านไปทำไป เรียนไปพร้อม ๆ กับลงมือทำ

หนังสือมรดกอีสาน

การแต่งกายในการทำพิธี

    ถ้าไปทำพิธีหมู่บ้านอื่นปู่จะใส่ชุดขาวทั้งตัว มีผ้าเบี่ยงให้เป็นทางการ ดูดี แต่ถ้าทำอยู่บ้านเราก็ใส่เสื้อขาว กางเกงดำ มีผ้าเบี่ยง ธรรมดา ๆ

หน้าที่ของปู่ในการนำทำพิธี

    นำสวดพิธีทางศาสนาทุกพิธี การขึ้นบ้านใหม่ ยกบ้านใหม่ บายศรีสู่ขวัญ ดูฤกษ์ดูยาม ยกตัวอย่าง การสู่ขวัญ เจ้าของขวัญจะนั่งตรงข้ามกับพ่อพราหมณ์ มีพาขวัญ (พานบายศรี) อยู่ตรงกลาง พ่อพราหมณ์จะเอาด้ายสายสินคล้องจากพาขวัญไปให้เจ้าของขวัญจับและเอาดอกไม้ ไข่ต้ม ข้าวต้มใส่มือ และเริ่มสวด ตั้งนโม 3 จบ กล่าวบท สัคเค กา เม จะ รูเป... เพื่อเชิญเทพยาดาลงมาเป็นประมุขประธาน สวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และก็เริ่มสวดสู่ขวัญตามประเภทของพิธีที่จัด เช่น การสู่ขวัญแต่งงาน การสู่ขวัญคนป่วย ในตอนสุดท้ายของพิธีจะเป็นการ วิดฟาย (การเอาดอกไม้จุ่มลงในน้ำมนต์แล้วพรมให้ผู้รับการสู่ขวัญ) และผูกแขนให้เจ้าของขวัญ ถือเป็นการเสร็จพิธี

มีค่าครูไหม

    ปู่ไม่ได้เรียกร้อง แล้วแต่เจ้าภาพจะให้เป็นสินน้ำใจ 300 บ้าง 400 บ้าง

ปู่จะเป็นหมอพราหมณ์จนถึงอายุเท่าไหร่

    จนกว่าจะทำไม่ได้ หมดแรงนู้นแหละ 

ตอนนี้มีคนมาขอเป็นลูกศิษย์บ้างไหม

        มีบ้าง ส่วนมากจะเป็นคนสูงอายุ อายุประมาณ 60-70 ปี เมื่อวานมาขอยกครูไปคนหนึ่ง อีก 2 คนกำลังเรียนอยู่ ยังไม่ได้มาขอยกครู มีขอถามยืมหนังสือ มาถามเกี่ยวกับขั้นตอนพิธีต่าง ๆ การมายกครูเพื่อให้ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้แต่งบทคาถาเหล่านั้นจะได้ช่วยจับกระหม่อมจอมขวัญเพื่อรับเป็นศิษย์ 

ปู่ทองใสได้บอกอีกว่า "ใครอยากได้ความรู้ก็มาถามมาเรียนได้เลย ปู่ไม่หวงสักอย่าง ให้หมดเลย จะได้ช่วยกันสืบสานต่อ กลัวมันจะหมดมันจะหายไป"

-------------------------------------------------------------------

    ในปัจจุบันปราชญ์ชาวบ้านทางด้านพิธีกรรมมีการสืบทอดน้อยมาก อาจเป็นเพราะต้องศึกษาบทคาถา บทสวดมนต์จำนวนมากเพื่อเป็นผู้นำสวดในพิธีสำคัญ และคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับพิธีกรรมท้องถิ่นน้อยลงทำให้ไม่รู้จักปราชญ์ชาวบ้านทางด้านนี้ ในที่สุดภูมิปัญญาและบุคคลเหล่านี้จะสูญหายไป ผู้เขียนจึงอยากมาแบ่งปันข้อมูลเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ที่สนใจ และขอเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยสืบสานไม่ให้ภูมิปัญญานี้สูญหายไป


อ้างอิง

ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ. (ม.ป.ป.). ผู้รู้/ปราชญ์ชาวบ้าน
        ค้นเมื่อ 21 กันยายน 2563. จาก http://biodiversity.forest.go.th/TK/index.php?
        option=com_zoo&view=category&Itemid=25

Comments

  1. บล็ิอกนี้ทำให้เราเข้าใจคำว่าปราชญ์ชาวบ้านอย่างแท้จริง แถมยังเป็นแหล่งความรู้ที่มีคุณค่าทางจิตใตต่อผู้ให้และผุ้รับจริงๆ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ค่ะ ได้ความรู้จากบทความนี้เยอะเลย และวัฒนธรรมควรต้องมีการส่งต่อไม่ให้สูญหายอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้เลยค่ะ

    ReplyDelete
  3. วัฒนธรรมนี้มีคุณค่าทางด้านจิตใจจริงๆเลยค่ะ อย่างบายศรีสู่ขวัญ

    ReplyDelete
  4. คุณปู่น่ารักมาก ไม่หวงความรู้เลยค่ะ สมัยนี้ไม่ค่อยมีคนทอดวัฒนธรรมแบบนี้แล้ว

    ReplyDelete
  5. ทุกวันนี้ยิ่งไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นอย่างเราจะสนใจเท่าไหร่เลย ขอบคุณที่นำเสนอเรื่องราวดีๆแบบนี้ คุณปู่น่ารักมากค่ะ

    ReplyDelete
  6. เป็นบทความที่ให้ความรู้มากค่ะ อยากเป็นอีกหนึ่งแรกที่อยากช่วยให้วัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่นะคะ

    ReplyDelete

Post a Comment